"เงิน" ในโลกนี้ มีหน้าที่สำคัญอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง คือ
1. ใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) 2. ใช้เป็นเครื่องวัดมูลค่า (Measure of Value) 3. ใช้เป็นที่เก็บมูลค่า (Store of Value)
นอกจากเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและเป็นเครื่องมือในการวัดมูลค่าแล้ว การที่เงินสามารถเก็บรักษามูลค่า (Store of Value) ซึ่งมูลค่าที่แท้จริงก็มาจากผลิตภาพ (Productivity) ของเรานั้น ทำให้เราสามารถนำสิ่งที่เราทำได้จากผลิตภาพของเราในวันนี้ไปใช้วันอื่นในอนาคตข้างหน้า โดยที่เก็บผลิตภาพเหล่านั้นไว้ในรูปแบบของสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่าง ๆ ดังนั้น การวางแผนเพื่อให้สามารถเอาความสามารถในการผลิตของเราวันนี้เมื่อครั้งยังมีเรี่ยวแรง เอาไปใช้ในอนาคตที่แก่ตัวจนกำลังวังชาลดลงไป ไม่สามารถทำได้เท่าตอนหนุ่มสาว จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ว่าไหมครับ?
มีข้อมูลจากงานวิจัยร่วมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์* บ่งชี้ว่า
คนไทยที่อยู่ในช่วงวัยทำงานราว 3 ใน 4 คน
มีแนวโน้มที่จะมีเงินไม่เพียงพอสำหรับใช้ในวัยเกษียณอายุ
ลองคิดดูเล่น ๆ ง่าย ๆ ว่าถ้าสมมติตอนนี้อายุ 35 ปี ถ้าจะเกษียณอายุตอน 60 ปี เหลือเวลาเก็บเงินแค่ 25 ปี ไว้ใช้หลังเกษียณเท่านั้นเองนะ
ถามจริง ๆ ว่าคิดกันหรือยังว่าตอนเกษียณจะใช้เงินเดือนนึงเท่าไหร่? จะไปเที่ยวไหน อยากจะซื้ออะไร มันมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่? ตอนแก่เจ็บป่วยใครจะดูแล? จะไปอยู่ไหน? คุณภาพชีวิตจะเป็นยังไง? อยากมีไลฟ์สไตล์เกษียณรวย แก่แต่แซ่บ หรือ เกษียณจน ต้องคอยพึ่งพาความช่วยเหลือคนอื่น? หรือรอใช้บริการบ้านพักคนชรา?
แล้วเคยสำรวจหรือยัง ตอนนี้ล่ะมีเงินเก็บเพื่อเกษียณเยอะแค่ไหน? จะเกษียณให้ได้แบบที่ต้องการต้องเก็บเงินเท่าไหร่? เก็บไว้ที่ไหน? เก็บยังไง? ถ้าไม่พอจะต้องหาจากไหน? หรือเก็บเยอะจนตอนนี้ไม่พอจะกิน ลำบากไปมั๊ยที่จะยอมทำร้ายตัวเองวันนี้เพื่อเกษียณให้ได้ จนหาความสมดุลของความสุขชีวิตตัวเองไม่ได้ จะบริหารสัดส่วนความสุขเหล่านั้นได้อย่างไร?
ตอบคำถามพวกนี้ได้แล้วหรือยังครับ?
ต้องเลือกแล้วแหละครับ ว่าจะวางแผนรับผิดชอบชีวิตตัวเองวันนี้ตอนนี้ หรือรอแก่แล้วค่อยรับผลของการกระทำกันไป จะดีจะร้าย จะมีใครเลี้ยงมั๊ย ก็รับความเสี่ยงกันเอง
ผมชอบวิดีโอชุดนี้มากเลย (มีด้วยกัน 3 อัน ดูให้ครบนะครับ) มันอาจจะทำให้ใครหลายคนเห็นภาพมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้มนุษย์โลกอายุยืนยาวขึ้นด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและการดูแลตัวเองที่ดีขึ้น อายุคาดหมาย (Life Expectancy หรืออายุขัยเฉลี่ย) เลยเพิ่มขึ้น แต่ไลฟ์สไตล์ที่คาดหวังไว้ (Lifestyle Expectancy) ล่ะ ได้วางแผนกันไว้หรือยัง? เมื่อต้องอยู่นานขึ้น การออมและการลงทุนที่มากเพียงพอจึงจำเป็น และความเสี่ยงที่มีก็อาจทำให้เงินไม่พอใช้จ่ายก็เป็นได้ บ้านที่น่าอยู่อาจหายไป รถในฝันอาจไม่ได้ขับ ชีวิตดี๊ดีอาจไม่มี ดังนั้นการวางแผนที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ
วางแผนให้ดี เพื่อตัวคุณเองในอนาคต วาดอนาคตให้ชัดเจนขึ้น อย่าเสี่ยงกับความสุขของตัวเอง และอย่าชะล่าใจนะครับ ขนาดวางแผนแล้วยังมีผิดแผนได้ แล้วนับประสาอะไรกับการไม่ได้วางแผนเลย!
ด้วยความปรารถนาดีจาก #wealthfit
หมายเหตุ : * ที่มาจากงานวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์ระดับสินทรัพย์การออมขั้นต่ำที่ผู้เกษียณอายุพึงมีสำหรับการประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน (วัยสูงอายุ)” โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งระบุว่า สัดส่วนของมนุษย์เงินเดือนที่จะมีเงินไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณคือราว 76% โดยให้นิยามของมนุษย์เงินเดือนว่า เป็นกลุ่มบุคคลที่มีเงินเดือนปัจจุบันไม่เกิน 30,000 บาท อัตราการขึ้นเงินเดือนไม่ถึงปีละ 5.5% นายจ้างจ่ายเงินสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่ำกว่า 5.5% และไม่มีเงินบำเหน็จจากนายจ้าง ทั้งนี้ ความเพียงพอ หมายถึง เงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + เงินบำนาญจากประกันสังคม + เงินบำเหน็จจากนายจ้าง(ถ้ามี) + เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีโอกาสบรรลุเงินก้อนที่พึงมีเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ ณ ระดับความเพียงพออย่างน้อย 95%