top of page
Writer's pictureKasidis Suwanampai, CFP®

ลดความขัดแย้งในครอบครัวได้ด้วย "ธรรมนูญครอบครัว"

Updated: Jan 21, 2020


ธรรมนูญครอบครัว

ในช่วงที่กำลังเขียนบทความนี้ ละครเรื่อง #เลือดข้นคนจาง ก็กำลังเข้มข้นและเป็นกระแสอย่างมาก ด้วยเพราะตัวบทละครมีเนื้อหาเกี่ยวกับคดีมรดกเลือดของกงสีที่ทำธุรกิจครอบครัว (และดูเหมือนจะหยิบยกเอาตัวอย่างจากคดีจริงที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนมาดัดแปลงเป็นพล็อตเรื่องของละครด้วย) ซึ่งนอกจากมุมมองด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพินัยกรรม มรดก และภาษีมรดก ที่หลายท่านคงได้อ่านกันไปบ้างแล้ว วันนี้ก็อยากจะขอหยิบยกเอาบางประเด็นในด้านการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยลดความขัดแย้งของครอบครัวแบบ 'ตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม' เผื่อกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นโดยไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนดังตัวอย่างในละครได้ นั่นก็คือ "ธรรมนูญครอบครัว" หรือ Family Constitution

ทำไมต้องมี "ธรรมนูญครอบครัว" ???

ว่ากันว่า .. 'ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่จำนวนไม่น้อย ที่อาจยืนระยะได้ไม่เกิน 3 ชั่วอายุคน' .. จากคำกล่าวนี้คงจะไม่ได้เกินจริงไปมากนัก เพราะเราเองก็คงมีโอกาสได้เห็นธุรกิจครอบครัวหลายแห่งต้องปิดตัวลงไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุเพราะปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ความน่าเชื่อถือของคนรุ่นใหม่ ความสามารถของเขย-สะใภ้ การสื่อสารระหว่างคนรุ่นเก่า-ใหม่ หรือแม้กระทั่งการตกลงกันไม่ได้ในเรื่องธุรกิจและผลประโยชน์ภายในครอบครัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้โดยส่วนใหญ่แล้ว มักมีต้นเหตุจากความไม่พร้อมในการวางรากฐานและกลยุทธ์ที่ดี รวมถึงไม่มีแผนในการสืบทอดกิจการ หรือจัดสรรปันส่วนความเป็นเจ้าของสินทรัพย์หรือสวัสดิการจากครอบครัวอย่างชัดเจนตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงก่อเกิดเป็นแนวคิดของการจัดทำธรรมนูญครอบครัวขึ้นมา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการด้วย สำนักงานธุรกิจครอบครัว หรือ Family Office นั่นเอง

อะไรคือ "ธรรมนูญครอบครัว" ???

หากรัฐธรรมนูญถือเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ ธรรมนูญครอบครัวก็เปรียบเสมือนบทบัญญัติสูงสุดภายในครอบครัว ที่มีขึ้นเพื่อสร้างความชัดเจนให้กับสมาชิกในครอบครัวใช้เป็นแนวทางปฏิบัติที่อันเป็นหลักในการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว จัดสรรสวัสดิการของกงสีและความเป็นเจ้าของในธุรกิจครอบครัว หลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นภายในครอบครัว รวมถึงเพื่อให้ครอบครัวได้เลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุดมาสืบทอดกิจการต่อ ไม่ว่าจะจากคนในครอบครัวหรือบุคคลมากความสามารถจากภายนอกก็ตาม โดยที่พี่น้องทั้งหมดไม่ผิดพ้องหมองใจกัน และสมาชิกทุกคนต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ยกตัวอย่างเช่น จากในละครเรื่องเลือดข้นคนจาง หากครอบครัวจิระอนันต์ มีธรรมนูญครอบครัวที่ช่วยวางแนวทางการบริหารธุรกิจครอบครัวไว้แล้ว หลังจากอากงเสียชีวิตไป ภัสสรเองก็อาจจะลาออกจากการเป็นผู้บริหารกลางคัน พร้อมกับพาลูกน้องลาออกตามไปด้วย เพราะเหตุจากการแบ่งมรดกอย่างกะทันหันตามอำเภอใจแบบนี้ไม่ได้ จะต้องผ่านการประชุมจากคณะกรรมการและสภาครอบครัวในการจัดหาคนมาแทน ผ่านการพูดคุยเจรจา สร้างฉันทามติด้วยเหตุผลความเข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ทำให้ผลประโยชน์ของทั้งครอบครัวต้องเสียหาย และเรื่องก็คงไม่ต้องมาจบการทะเลาะเบาะแว้งภายในจนลุกลามไปเป็นความตายของเฮียเสริฐ

In Family We Trust (ขอบคุณภาพจาก LINE TV)

ภัสสร ทะเลาะกับ เฮียเสริฐ เรื่องธุรกิจครอบครัว ในละครเรื่อง เลือดข้นคนจาง

"ธรรมนูญครอบครัว" ต้องระบุอะไรบ้าง ???

นอกเหนือจากธรรมนูญครอบครัวแล้ว องค์ประกอบอื่นที่สำคัญก็ยังจะต้องมี 'สภาครอบครัว' และ 'สมัชชาครอบครัว' ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจากทุกสายครอบครัว มาประชุมร่วมกันเพื่อดูแลจัดการและตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ภายในครอบครัวอย่างเป็นกลางและเป็นธรรม โดยมี 'ธรรมนูญครอบครัว' เป็นดั่งกรอบและแนวทางที่ชัดเจนในการตัดสินใจซึ่งถูกเขียนไว้โดยผู้นำตระกูล และมี 'คณะกรรมการครอบครัว' แยกออกมาต่างหากเพื่อคอยดูแลจัดการเรื่องธุรกิจ (และอาจจะมีบุคคลภายนอกครอบครัวที่เข้ามาร่วมให้คำปรึกษาในบางส่วน)

สาระสำคัญหลักที่จะต้องระบุเอาไว้ในธรรมนูญครอบครัว โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักร่างขึ้นจากแนวคิดและความมุ่งหวังของผู้นำครอบครัวที่เห็นพ้องต้องกันว่าจะนำพาครอบครัวเจริญเติบโตต่อไปในทางใด แบบใดบ้าง ยกตัวอย่างเช่น

  • ปรัชญาการดำเนินชีวิตของครอบครัว

  • วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม รวมถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจครอบครัวในรุ่นถัดไป

  • กฏ กติกา มารยาท ในการอยู่ร่วมกันภายในครอบครัว

  • กลไกการพิจารณาและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ของสภาครอบครัว

  • ข้อกำหนดในการคัดสรรบุคคลากรเข้าทำงานกับธุรกิจครอบครัว

  • การจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนและสวัสดิการแก่สมาชิกครอบครัว

  • ข้อกำหนดและบทลงโทษแก่สมาชิกครอบครัวที่ไม่ปฎิบัติตามธรรมนูญครอบครัว

  • นโยบายการลงทุนของกิจการครอบครัว และกลยุทธ์ในการบริหารจัดการธุรกิจ

  • หลักเกณฑ์ข้อกำหนดในการสืบทอดกิจการหรือส่งมอบมรดก

  • หลักเกณฑ์ในการบริหารความมั่งคั่งและสินทรัพย์ของครอบครัว

  • แนวทางการระงับข้อพิพาทหรือความขัดแย้งภายในครอบครัว

  • วาระการประชุมต่าง ๆ ของสภาครอบครัว และ คณะกรรมการครอบครัว

  • ฯลฯ

โดยข้อกำหนดต่าง ๆ นั้น ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามตกลงกันโดยฉันทามติของครอบครัว และไม่มีข้อกำหนดตายตัว เพื่อให้ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการที่แตกต่างกันของผู้นำของแต่ละครอบครัว ทั้งนี้ การกำหนดธรรมนูญครอบครัวขึ้นมานั้นก็ต้องอิงตามกฎหมายของประเทศด้วยเช่นกัน

บริการต่าง ๆ ทางด้าน Family Office

การบริหารจัดการด้วยสำนักงานธุรกิจครอบครัวหรือ Family Office

เพราะฉะนั้น การเขียนธรรมนูญครอบครัวให้ครอบคลุม ครบถ้วน ชัดเจน และสอดคล้องกับกฏหมายนั้น จะทำให้ทุกคนในครอบครัวสามารถเห็นภาพใหญ่ภาพเดียวกันที่เป็นลายลักษณ์อักษร เข้าใจไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม และปฎิบัติตามได้จริง ดังสุภาษิตจีนหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า

The palest ink is better than the best memory.

" หมึกที่จาง ก็ยังดีกว่าใช้ความจำจดจำเอา "

แม้แต่ ครอบครัวจิราธิวัฒน์ เอง ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่าเป็นครอบครัวเจ้าของธุรกิจค้าปลีกชื่อดังอย่างเครือเซนทรัล ที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวมในกิจการครอบครัวสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และมีสมาชิกเครือญาติในตระกูลนับร้อยชีวิต ก็ยังเลือกที่จะเขียนบทบัญญัติขึ้นมาใช้ร่วมกันในระยะยาว แทนที่จะจัดการกันโดยตัดสินใจเป็นครั้งคราวไป จึงนับเป็นตัวอย่างของครอบครัวที่มีการจัดการภายในครอบครัวที่ดีด้วยแนวคิดการใช้ธรรมนูญครอบครัวเป็นเครื่องมือจัดการ เพื่อแยกแยะ ส่วนของผู้ถือหุ้น และ ส่วนการบริหารจัดการ ออกได้อย่างชัดเจน สามารถเพิ่มความแข็งแกร่งเป็นปึกแผ่นภายในครอบครัวและลดโอกาสเกิดความขัดแย้งและผลกระทบต่อธุรกิจของครอบครัวลงไปได้พร้อม ๆ กัน ดังคำกล่าวของ รศ.ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ เลขาธิการสภาตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่ว่า "ถ้าจะพูดเรื่องของธุรกิจต้องมองไปที่เซ็นทรัล และถ้าจะพูดถึงจิราธิวัฒน์ให้ดูที่แฟมิลี่ เคาน์ซิล"

ครอบครัวจิระอนันต์ ในละครเรื่อง เลือดข้นคนจาง

ครอบครัวจิระอนันต์ ในละครเรื่อง เลือดข้นคนจาง

สำหรับใครที่อยู่ในกงสีที่มีกิจการครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเล็กหรือครอบครัวใหญ่ ไม่ว่าสินทรัพย์ในธุรกิจครอบครัวจะมากน้อยเท่าใดก็ตาม เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของตระกูลต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลานแล้ว การเริ่มต้นการบริหารจัดการที่ดี เพื่อรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกครอบครัว ต่อยอดธุรกิจของครอบครัวบนพื้นฐานการจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นกลางและเป็นธรรม และป้องกันความบาดหมางที่อาจจะเกิดขึ้นภายในหมู่พี่น้อง ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับครอบครัวคุณเช่นกันนะครับ

 

อ้างอิง

  • ไทยพับลิก้า. 2557. PwC สำรวจธุรกิจครอบครัวมีโอกาสรอดถึงรุ่น 3 เพียง 12% และ 64% รุ่นพ่อ-แม่ส่งมอบธุรกิจให้ลูกหลานในนาม. https://thaipublica.org/2014/05/pwc-handing-over-the-family-business-to-the-next-generation/.

  • นวพล วิริยะกุลกิจ, สำนักพิมพ์การเงินธนาคาร, ธรรมนูญครอบครัว เขียนอย่างไรให้สำเร็จ (บทที่ 15 ธรรมนูญครอบครัวจิราธิวัฒน์), หน้า 170-191 (2557)

  • CREDIT SUISSE AG. WHITE PAPER FAMILY GOVERNANCE

  • Morgan Stanley. Family Constitution and Family By-laws

2,223 views0 comments
bottom of page