ในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การขายสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้คนจำนวนมากหันมาประกอบอาชีพนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะขายสินค้าออนไลน์จำเป็นต้องทำความเข้าใจประเด็นเกี่ยวกับภาษี ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่หลายประการ ซึ่งผมขอตั้งเป็นข้อควรระวังใน 3 เรื่องด้วยกัน เป็นเรื่องอะไรบ้าง มาติดตามกันครับ...
เรื่องที่ 1 การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา VS แบบตามจริง
ในอดีต การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 จะมีอัตราที่สูงมาก เพื่อความสะดวกในการคำนวณภาษี (เช่น 75% สำหรับกิจการร้านอาหาร หรือ 90% สำหรับกิจการซื้อมาขายไป ต่อมาในปี 2520 ลดลงเหลือ 70% และ 80% ตามลำดับ) แต่เมื่อปี 2560 ได้มีการปรับลดอัตราค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับเงินได้จากกิจการเหล่านี้เหลือเพียง 60% เพื่อเป็นการสนับสนุนให้บุคคลธรรมดาหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยจัดทำบัญชีเพื่อแสดงผลประกอบการที่แท้จริง ดังนั้น หากผู้ขายสินค้าออนไลน์ยังเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% อยู่ ก็อาจเป็นประเด็นที่นำไปสู่การตรวจสอบได้ ซึ่งอาจรวมถึงการตรวจสอบการจัดทำรายงานต่าง ๆ เช่น รายงานเงินสดรับ-จ่าย (กรณีไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT) รายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ (กรณีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT) ฯลฯ
เรื่องที่ 2 ภาษีเงินได้ VS ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับคู่สามีภรรยา
กรณีที่สามีภรรยาขายสินค้าออนไลน์ร่วมกัน เงินได้ที่ได้รับจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทเดียวที่ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงแบ่งสัดส่วนเงินได้ได้เอง หรือถ้าตกลงกันไม่ได้จะถือว่าต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ฝ่ายละครึ่งหนึ่ง แต่หลักการนี้ใช้กับการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น ส่วนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คู่สามีภรรยาถือเป็นหน่วยภาษีที่เป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลอย่างหนึ่ง ดังนั้น หากสินค้าที่ขายไม่ได้รับยกเว้น VAT และมีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,800,000 บาท ในปีใด (ซึ่งเมื่อแบ่งเงินได้เพื่อยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 หรือ ภ.ง.ด. 90 อาจไม่ถึง 1,800,000 บาทก็ได้) คู่สามีภรรยาจะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในระบบ VAT ด้วย รวมทั้งปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนในนามคู่สามีภรรยาเช่นเดียวกัน ทั้งการจัดทำรายงาน การออกใบกำกับภาษี และการยื่นแบบ ภ.พ. 30 เป็นประจำทุกเดือนภาษี ไม่ว่าจะขายสินค้าในเดือนนั้น ๆ หรือไม่ก็ตาม
เรื่องที่ 3 การขายสินค้าที่ไม่ต้องออกใบกำกับภาษี
หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT ก็คือการออกใบกำกับภาษี ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นภาระ แต่หากผู้ขายสินค้าออนไลน์ไม่เคยมีมูลค่าของฐานภาษีถึง 300,000 บาท ในเดือนใดเลย ก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท (ยกเว้นผู้ซื้อจะขอใบกำกับภาษี ก็ต้องออกให้แก่ผู้ซื้อรายนั้น) โดยจะต้องจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อที่รวมยอดขายที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องออกใบกำกับภาษีเหล่านี้ในแต่ละวันทำการ และลงรายการดังกล่าวในรายงานภาษีขาย แต่เมื่อมีเดือนใดมีมูลค่าของฐานภาษีแตะ 300,000 บาท สิทธิดังกล่าวจะหมดไปทันที และจะต้องกลับไปออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ขายสินค้า (สำหรับการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ แต่หากผู้ซื้อต้องการใบกำกับภาษีเต็มรูป ก็ต้องออกให้แก่ผู้ซื้อรายนั้น)
การขายสินค้าออนไลน์ เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่อาจสร้างรายได้มหาศาล แต่ผู้ที่จะหันมาประกอบอาชีพนี้จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ทางภาษี เพื่อให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้องและประหยัดที่สุด ซึ่งเท่ากับเป็นความสำเร็จในการวางแผนรายได้ และการวางแผนภาษีนั่นเองครับ...
ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy
อ้างอิง
ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ฉ วรรคสอง, 81/1, 83, 86, 86/6, 86/8, 87
พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 (7) (25)
พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 มาตรา 4
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ให้เป็นกิจการค้าปลีกฯ ข้อ 2
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธ๊การ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ข้อ 5 (2)
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 131) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ข้อ 3 (2)
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 154)เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย และการออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนฯ ข้อ 2 (1), 3-4
การอบรมหัวข้อ “ภาษีฉบับพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ 2021” และ “การตรวจสอบภาษีพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ของสรรพากร” โดย อ.รุ่งทิพย์ ธัญวงษ์ อดีตนักตรวจสอบภาษีชำนาญการพิเศษ
#ขายของออนไลน์ #พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา #ภาษีมูลค่าเพิ่ม #VAT #SiamWealthManagement #VinayaChy
Comments