ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของมนุษย์ชาติ ที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถของมวลมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน และกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ โดย AI ในปัจจุบันนี้ หากนำมาใช้ในด้านการวางแผนการเงินและการเงินส่วนบุคคล แม้ว่าจะสามารถช่วยประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และช่วยอำนวยความสะดวกให้นักวางแผนการเงินสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดระยะเวลาการทำงาน เพิ่มความเฉียบขาดในการให้คำแนะนำ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีประเด็นสำคัญที่ควรต้องพิจารณาจับตาเช่นกัน
ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล
เพื่อที่จะให้บริการทางการเงิน นักวางแผนการเงินจำเป็นต้องเก็บ รวบรวม และใช้ข้อมูลสำคัญทางการเงิน เช่น รายได้ ค่าใช้จ่าย สินทรัพย์ หนี้สิน และเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวสูง ในการให้บริการ ดังนั้น การนำ AI มาใช้ จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญ เพราะการนำข้อมูลไปให้ AI ใช้ อาจหมายถึงการส่งออกข้อมูลเข้าสู่สาธารณะได้ นักวางแผนการเงินจึงต้องวางระบบการทำงานให้มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลหรือการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด โดยผู้ให้บริการทางการเงินจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด และสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจถึงนโยบายความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอย่างชัดเจน
ความโปร่งใสในการทำงานของ AI
ลูกค้าของนักวางแผนการเงิน ควรได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับวิธีการที่ AI ถูกนำมาใช้ในการวางแผนการเงิน เช่น AI ใช้ข้อมูลอะไรบ้างในการวิเคราะห์? AI มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างไร? หรือผลลัพธ์ที่ได้จาก AI มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน? ซึ่งความโปร่งใสนี้จะช่วยสร้างความไว้วางใจและความสบายใจให้กับลูกค้าผู้รับบริการ และทำให้ลูกค้าเองเข้าใจมากยิ่งขึ้นถึงข้อจำกัดของ AI และผลกระทบจากการใช้ AI มาประกอบการให้บริการทั้งในทางบวกและทางลบ ดังนั้น นักวางแผนการเงินผู้ให้บริการควรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของ AI รวมถึงอธิบายผลลัพธ์ที่ AI แนะนำโดยละเอียด และปักหมุดแยกส่วนให้ชัดเจนว่าคำแนะนำใดมาจาก AI เพื่อให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจปฏิบัติตามแผนการเงินได้อย่างระมัดระวังและรอบคอบ
การรักษาสมดุลระหว่าง AI กับปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์
แม้ว่า AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ในบางกรณี ก็ยังไม่สามารถทดแทนบทบาทของมนุษย์ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะด้านความสัมพันธ์ระหว่างนักวางแผนการเงินกับลูกค้า การสื่อสาร การเอาใจใส่ การทำความเข้าใจชีวิตและความเป็นมนุษย์ และการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกค้ายังต้องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ดังนั้น AI จึงอาจเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของมนุษย์ ไม่ใช่การเข้ามาแทนที่ และนักวางแผนการเงินก็ต้องเริ่มปรับใช้ AI ในกระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น การวิเคราะห์ข้อมูล ประมวลผล และจัดการงาน Routine เพื่อให้ตนเองมีเวลาในการไปสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ให้คำแนะนำ และแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัย Human Touch ในการทำงานร่วมกับลูกค้าแทน
การปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง
เทคโนโลยี AI มีการพัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว นักวางแผนการเงินเองก็ต้องหมั่นติดตามความก้าวหน้า เรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ในการประยุกต์ใช้ AI เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ นี้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยี Machine Learning (ML) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า หา Insight ด้านการเงินของลูกค้า หรือวิเคราะห์ภาพรวมตลาดของลูกค้าทุกราย หรือการประยุกต์ใช้แอพพลิเคชันด้าน Natural Language Processing (NLP) ในการสื่อสารกับลูกค้าผ่าน Smart AI Chatbot รวมถึงการนำ Robo-advisor มาช่วยเหลือในการให้คำแนะนำการลงทุน จะเห็นได้ว่า การปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี จะช่วยให้นักวางแผนการเงินสามารถให้บริการที่ดียิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังคงความสามารถในการแข่งขันกับตลาดได้เช่นกัน
มาตรฐานและจริยธรรมในการใช้ AI
การนำ AI มาใช้ในการวางแผนการเงิน ควรอยู่ภายใต้กรอบของจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ และมีการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการนำ AI ไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การเลือกปฏิบัติ การเอาเปรียบลูกค้า หรือการสร้างความเสียหายด้านการเงินต่อลูกค้าผ่านการทุจริตทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ซึ่งนักวางแผนการเงินต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบและใช้ AI อย่างมีจริยธรรม ภายใต้จรรยาบรรณวิชาชีพของตน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า และสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการวางแผนการเงินในระยะยาว
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เทคโนโลยี AI มีศักยภาพในการยกระดับการวางแผนการเงินในทุกมิติ แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายในหลากหลายด้าน นักวางแผนการเงิน ผู้พัฒนาเทคโนโลยี และหน่วยงานที่ต้องกำกับดูแลในอุตสาหกรรม จึงต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างกรอบการทำงาน และมาตรฐานการใช้ AI ที่เหมาะสม เพื่อให้ AI สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การวางแผนการเงินในโลกแห่งอนาคต มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม ปลอดภัยและสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าทุกคนผู้รับบริการได้อย่างมีความรับผิดชอบ และมีความมั่งคั่งที่มั่นคงอย่างยั่งยืน
ใช้ชีวิตเต็มที่กับวันนี้ และวางแผนสำหรับวันพรุ่งนี้เสมอ
LIVE YOUR TODAY. PLAN YOUR TOMORROW.
เนื่องจากในปี 2024 นี้ ทางคณะกรรมการมาตรฐานการวางแผนการเงิน (Financial Planning Standards Board Ltd. หรือ FPSB) ผู้ออกใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ได้รณรงค์ให้วันที่ 9 ตุลาคมของปีนี้ เป็น วันวางแผนการเงินโลก หรือ World Financial Planning Day เพื่อส่งเสริมให้องค์กรและบุคลากรในสายงานการวางแผนการเงินร่วมกันกระตุ้นและส่งต่อความรู้พื้นฐานด้านการวางแผนการเงินในหัวข้อต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ทาง Siam Wealth Management จึงขอนำเสนอบทความนี้เพื่อร่วมในแคมเปญการรณรงค์ด้วยเช่นกันครับ
นอกจากนี้ ทาง สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) ยังจัดกิจกรรม Financial Planning Clinic บริการให้คำปรึกษาวางแผนการเงินรายบุคคล 1:1 ที่จะทำให้คุณได้รับแผนการเงินที่เหมาะสมกับเป้าหมายการเงินของคุณ ในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2567 เวลา 9.00 - 12.30 น. (แบ่งเป็น 3 รอบ) ทางออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meetings ซึ่งติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้จาก ที่นี่
หากท่านผู้อ่านชื่นชอบบทความของเรา ก็สามารถแชร์บทความนี้ออกไปเพื่อร่วมรณรงค์ในแคมเปญดังกล่าว ด้วยการแชร์และติด Hashtag #WFPD2024 ไว้ในโพสต์ด้วยนะครับ ^^
Comments