top of page
Writer's pictureVinaya Chysirichote

Haha! ในวัย 55 กับเงินใช้หลังเกษียณ

Updated: Jan 6, 2022


“สายไปหรือเปล่า หนึ่งคำถามที่ดังในใจ ถ้าในวันนั้นเราทำแบบนั้น มาในวันนี้จะเป็นอย่างไร... สายไปหรือเปล่า กี่ทีแล้วที่ต้องเสียดาย รู้อย่างนี้จะทำอย่างนั้น รู้อย่างนั้นจะไม่ปล่อยไป...”


ตอนนี้ ซีรีส์ไทยเรื่องแรกที่เผยแพร่ทาง Disney+ Hotstar อย่าง 55:15 Never Too Late กำลังเข้มข้นเลยนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของเพื่อนชาย-หญิง 5 คน ในวัย 55 ปี ที่ถูกย้อนเวลาไปเติมเต็มความฝันในวัย 15 ปี สำหรับการวางแผนการเงินนั้น อายุ 55 ปี ก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นวัยที่หลายคนวาดฝันว่าจะเกษียณจากการทำงาน โดยจะมีสิทธิได้รับเงินจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อใช้หลังเกษียณ ซึ่งหากปฏิบัติถูกเงื่อนไข ก็จะได้รับยกเว้นภาษีอีกด้วย ตามผมไปดูกันเลยครับว่ามีอะไรบ้าง...


ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคม

เมื่อคุณสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนเป็นเงินบำเหน็จชราภาพหรือเงินบำนาญชราภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการส่งเงินสมทบ แต่จะไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานอีก

  • หากส่งเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน

  • หากส่งเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบทั้งส่วนของผู้ประกันตนและส่วนของนายจ้าง พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปี

  • หากส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในอัตราเดือนละ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดยเพิ่มอีก 1.5% ต่อทุก 12 เดือนที่ส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน และไม่ต่ำกว่า 720 บาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบบำนาญชราภาพใน 3 ประเด็น คือ “ขอเลือก” ให้ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ สามารถเลือกรับเงินบำเหน็จชราภาพแทนได้ “ขอคืน” ให้ผู้ประกันตนสามารถขอรับเงินกรณีชราภาพบางส่วนคืนก่อนเกษียณอายุ และ “ขอกู้” ให้ผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันกู้เงินธนาคารได้ รวมถึงขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีภาพเป็น 60 ปีบริบูรณ์[1]


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)

เมื่อคุณออกจากงานโดยมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิก PVD ไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินที่ได้รับจาก PVD จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน ทั้งนี้ ข้อบังคับกองทุนอาจกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิขอรับเงินเป็นงวดได้ ส่วนกรณีที่ออกจากงานก่อนหน้านั้น มีทางเลือก 2 ทางที่จะได้รับยกเว้นภาษีจากเงิน PVD เช่นเดียวกัน คือ

  1. ขอคงเงินไว้ใน PVD ทั้งจำนวน และคงการเป็นสมาชิกต่อไป แต่จะไม่มีการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบอีก แล้วขอรับเงินเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี

  2. ขอโอนเงินไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF for PVD) แล้วขายหน่วยลงทุนใน RMF for PVD เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และมีระยะเวลาการเป็นสมาชิก PVD รวมกับระยะเวลาถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี

อย่างไรก็ตาม การโอนเงินไปยัง RMF for PVD จะไม่ถือว่าเป็นการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากค่าซื้อหน่วยลงทุนแต่อย่างใด


กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

เมื่อคุณมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และได้ซื้อหน่วยลงทุนใน RMF ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับเฉพาะปีที่ลงทุน) จะได้รับสิทธิ 2 ประการ คือ

  1. สามารถหยุดซื้อหน่วยลงทุน หรือจะซื้อหน่วยลงทุนต่อไปในปีใดปีหนึ่งก็ได้ โดยไม่มีเงื่อนไขที่ห้ามระงับการลงทุนเกิน 1 ปี

  2. สามารถขายคืนหน่วยลงทุน โดยกำไรที่คำนวณจากเงินลงทุนที่ไม่เกินสิทธิซื้อของแต่ละปีจะได้รับยกเว้นภาษี

แต่ข้อที่ควรระวังก็คือ เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนไปแล้ว ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต่อมาหากต้องการซื้อใหม่ เงื่อนไขที่จะต้องซื้อต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี และไม่ระงับการลงทุนเกิน 1 ปี จะบังคับอีกครั้งกับการซื้อครั้งใหม่ โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มซื้อก้อนใหม่นี้ หากซื้อครบ 5 ปี จึงจะได้รับสิทธิ 2 ประการข้างต้นอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่ซื้อหน่วยลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ขายคืนก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะกำไรจากการขายคืน แต่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91 เพื่อคืนสิทธิประโยชน์จากค่าซื้อ RMF ที่เคยได้รับในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (สำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อก่อนเดือนมีนาคม 2551 จะไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับอายุเมื่อขายคืน) รวมถึงกรณีที่ระงับการลงทุนเกิน 1 ปีติดต่อกัน ก็ต้องยื่นแบบเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน ถ้ายื่นแบบเพิ่มเติมภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข จะได้รับสิทธิ 2 ประการ คือ (1) ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน (นับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีถัดจากปีที่ใช้สิทธิลดหย่อนค่าซื้อ จนถึงเดือนที่ยื่นแบบเพิ่มเติม) และ (2) หากไม่ได้เป็นการขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมด จะสามารถนับระยะเวลาถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องกับช่วงก่อนปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้

แต่กรณีที่ขายคืนก่อนลงทุนครบ 5 ปี ถึงแม้ว่าอายุจะครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วก็ตาม นอกจากต้องยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว ยังต้องนำกำไรไปรวมคำนวณภาษี (ภ.ง.ด. 90) สำหรับปีที่ขายคืนอีกด้วย โดยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราขั้นบันได แต่ไม่ยกเว้น 150,000 บาทแรก (นั่นคือกำไร 300,000 บาทแรกจะถูกหักภาษี 5%)


ประกันชีวิตแบบบำนาญ

เป็นผลิตภัณฑ์อีกรูปแบบที่ให้รายได้ประจำภายหลังเกษียณ โดยอายุ 55 ปี เป็นอายุขั้นต่ำที่ประกันชีวิตแบบบำนาญจะสามารถเริ่มจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญแก่ผู้เอาประกัน แต่บางแบบประกันอาจเริ่มหลังจากนั้น เช่น เมื่ออายุ 60 หรือ 65 ปี โดยจ่ายไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือสูงกว่านั้น ทั้งนี้ ผู้เอาประกันต้องชำระเบี้ยประกันครบถ้วนแล้วก่อนรับผลประโยชน์เงินบำนาญ ซึ่งอัตราเงินบำนาญที่จ่ายอาจคงที่ตลอดอายุกรมธรรม์ หรือจะเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดก็ได้ และบางแบบประกันก็มีการรับประกันจำนวนปีที่จ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญ เช่น 10 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี สำหรับความคุ้มครองชีวิตของประกันชีวิตแบบบำนาญโดยทั่วไปเป็นดังนี้

  • หากผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนรับผลประโยชน์เงินบำนาญ ผู้รับประโยชน์จะได้รับมูลค่าที่สูงกว่าระหว่าง (1) เบี้ยประกันหลักที่ชำระมาแล้วพร้อมส่วนเพิ่ม (ถ้ามี) หรือ (2) มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ เหมือนเช่นประกันชีวิตแบบอื่น ๆ

  • หากผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วงรับประกันการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญ (ถ้ามี) ผู้รับประโยชน์จะได้รับมูลค่าที่สูงกว่าระหว่าง (1) มูลค่าปัจจุบันของเงินบำนาญส่วนที่รับประกันที่ยังรับไม่ครบ หรือ (2) เบี้ยประกันหลักที่ชำระมาแล้ว หักด้วยเงินบำนาญที่ได้รับไปแล้ว

  • หากผู้เอาประกันเสียชีวิตภายหลังช่วงรับประกันการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญ ผู้รับประโยชน์จะได้รับเบี้ยประกันหลักที่ชำระมาแล้ว หักด้วยเงินบำนาญที่ได้รับไปแล้ว (แต่ถ้าได้รับเงินบำนาญไปแล้วมากกว่าเบี้ยประกันที่ชำระ ก็จะไม่ได้รับเงินใด ๆ)

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัทอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ดังนั้น ผู้ที่สนใจทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ควรสอบถามและศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจนะครับ


เงินฝากประจำ

อาจเป็นช่องทางเก็บรักษาเงินสำหรับใช้หลังเกษียณให้ปลอดภัยที่หลายคนตั้งใจจะเลือกใช้นะครับ โดยเมื่อคุณมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีขึ้นไป รวมทุกธนาคาร ทุกบัญชี ไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี ดอกเบี้ยดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษี แต่ถ้าได้รับดอกเบี้ยเกินจำนวนดังกล่าวจะต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก ส่วนกรณีที่คู่สามีภรรยาฝากเงินร่วมกันและไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของฝ่ายละเท่าใด จะถือว่าดอกเบี้ยที่ได้รับเป็นเงินได้ฝ่ายละครึ่งหนึ่ง


การย้อนวัยเหมือนในซีรีส์ 55:15 Never Too Late อาจเป็นความฝันของใครหลายคน แต่ชีวิตจริง ในวันที่เลข 55 มาเยือน เราคงไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีตได้ การเก็บเงินเพื่อการเกษียณก็เช่นกัน ดังนั้น เริ่มวางแผนเสียตั้งแต่ตอนนี้ ผมเชื่อว่า “ไม่มีคำว่าสาย ในพจนานุกรมของเรา... It’s never too late” แน่นอนครับ...


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy


อ้างอิง

ประมวลรัษฎากร มาตรา 50 (2), บัญชีอัตราภาษีเงินได้ (1)

พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 23/2, 23/3, 23/4

พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 76-77, 77 ทวิ, 78 (3)

กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (36) (55) (56) (61) วรรคสอง (65) (69) (92)

กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ. 2550 ข้อ 2, 4, 6, 7 (1) (2)

ประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดอัตราเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำ

ประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน พ.ศ. 2564 ข้อ 4.2

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 91) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้รับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ จากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ข้อ 1 (1), 2

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 170) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ข้อ 1 (2), 3

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 194) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ฯ ข้อ 1 (4)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 223) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ข้อ 3 (3)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 286) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ข้อ 2 (1)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 352) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำหรือผลตอบแทนเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลามตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์ ที่ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศ ข้อ 5

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ข้อ 2 (2), 4, 6, 7

หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/7664 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2558, กค 0702/2424 ลงวันที่ 3 เมษายน 2562


#5515Series #บำเหน็จชราภาพ #บำนาญชราภาพ #กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ #PVD #กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ #RMF #ประกันชีวิตแบบบำนาญ #SiamWealthManagement #VinayaChy


[1] ล่าสุดคณะกรรมการประกันสังคมได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ให้คงอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพไว้ที่ 55 ปีบริบูรณ์ตามเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับนายจ้างภาคเอกชนส่วนใหญ่ที่ยังกำหนดอายุเกษียณของลูกจ้างไว้ที่ 55 ปี

677 views0 comments

Comments


bottom of page