เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้มีเงินได้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ หรือที่เป็นผู้พิการ จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ไม่เกิน 190,000 บาท เรื่องนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นอย่างไร มาทำความเข้าใจให้มากขึ้นกันดีกว่าครับ...
การยกเว้นเงินได้ให้แก่ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ
เมื่อปี 2548 รัฐบาลได้มีการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ไม่เกิน 190,000 บาท ให้แก่ผู้มีเงินได้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบรรเทาภาษีให้แก่ผู้สูงอายุ ทำให้มีเงินเพื่อใช้ดำรงชีพเพิ่มขึ้น ต่อมาในปี 2553 ก็มีการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ไม่เกิน 190,000 บาท ให้แก่ผู้พิการ โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกัน
สิ่งที่หลายคนยังเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีในกรณีนี้ก็คือ การยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทนี้ เป็นการนำไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน (คล้ายกับการนำเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนที่เกิน 10,000 บาท หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มาหักออกจากเงินได้ประเภทเงินเดือนก่อนหักค่าใช้จ่าย 50% ไม่เกิน 100,000 บาท) ซึ่งจะแตกต่างจากการยกเว้นภาษีในกรณีอื่น ๆ ที่เป็นการยกเว้นเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย หรือเรียกว่าเป็นการยกเว้นเงินได้ในขั้นตอนเดียวกับการหักลดหย่อนนะครับ
แล้วควรใช้สิทธิหักยกเว้นเงินได้อย่างไรดี?
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า จำนวนเงิน 190,000 บาท จะนำไปหักออกจากเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย โดยในกรณีที่คุณมีเงินได้หลายประเภท สามารถนำจำนวนดังกล่าวไปหักจากเงินได้ประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงประเภทเดียว หรือจะนำมาแบ่งหักจากเงินได้หลายประเภทก็ได้ ดังนั้น กรณีนี้ ขอแนะนำว่าควรใช้สิทธิหักจากเงินได้ประเภทที่หักค่าใช้จ่ายได้น้อยที่สุดก่อน หากใช้สิทธิยังไม่ครบก็เลือกหักจากเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายน้อยรองลงมาตามลำดับนะครับ (สมมติว่าเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาทั้งหมด)
ตัวอย่างที่ 1 ผู้มีเงินได้ได้รับเงินปันผล 200,000 บาท (หักค่าใช้จ่ายไม่ได้เลย) ค่าเช่าบ้าน 300,000 บาท (หักค่าใช้จ่ายได้ 30%) และเปิดร้านอาหารได้เงิน 200,000 บาท (หักค่าใช้จ่ายได้ 60%) จะเลือกวิธีต่าง ๆ กันในการหักยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทได้ดังนี้
ตัวอย่างที่ 2 ผู้มีเงินได้ได้รับเงินบำนาญข้าราชการ 300,000 บาท (หักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) ค่าเช่าที่ดินสำหรับทำเกษตรกรรม 60,000 บาท (หักค่าใช้จ่ายได้ 20%) และเปิดร้านขายของได้เงิน 500,000 บาท (หักค่าใช้จ่ายได้ 60%) จะเลือกวิธีต่าง ๆ กันในการหักยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทได้ดังนี้
จะเห็นได้ว่า การเลือกนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้น 190,000 บาท ไปหักออกจากเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายได้น้อยที่สุดก่อน ตามด้วยเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายได้น้อยรองลงมา จะทำให้เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย (ก่อนหักลดหย่อนต่อไป) น้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้สูงอายุหรือผู้พิการสามารถประหยัดภาษีได้มากที่สุด และยังสามารถนำภาษีที่ประหยัดได้มาใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น หรือนำไปต่อยอดความมั่งคั่งเพิ่มเติมด้วยการลงทุนได้มากขึ้นนั่นเองครับ...
ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy
อ้างอิง
ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ทวิ, 43, 46
พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 5 (1) (ก) (ข), 8 วรรคหนึ่ง (7) (25)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (72) (81)
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 150) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับ ข้อ 3, 5
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 197) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการฯ ข้อ 3, 5
Comments