top of page
Writer's pictureVinaya Chysirichote

เรื่องวางแผนเกษียณ-ภาษีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องรู้


หลังจากที่เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีประเด็นที่เปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้างหลายเรื่อง แต่เรื่องที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในเวลานั้นก็คือ การเพิ่มค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จากไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็น 400 วัน ล่าสุดได้มีการเพิ่มค่าชดเชยในอัตราดังกล่าวให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน รายละเอียดจะเป็นอย่างไร และมีประเด็นเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณและภาษีอะไรบ้าง ไปติดตามกันครับ...


ค่าชดเชยสำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจเพิ่มอย่างไร

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ได้ออกประกาศเรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 4) โดยมีผลใช้บังคับในอีก 2 วันถัดมา สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ เพิ่มค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง และเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานในกรณีเกษียณอายุ ให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ทำงานติดต่อกันตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จากเดิมไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็น 400 วัน

พูดถึงค่าชดเชยหรือเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน ก็คงหนีไม่พ้นการเสียภาษีสำหรับเงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงาน ซึ่งหลายคนทราบดีว่า หากอายุงานน้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์ จะต้องนำเงินที่ได้รับทั้งหมดไปรวมยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91 ตามปกติ แต่หากอายุงานครบ 5 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะสามารถเลือกนำเงินส่วนนี้รวมคำนวณภาษีตามปกติ หรือแยกคำนวณภาษีใน “ใบแนบ” ก็ได้ โดยกรณีที่แยกคำนวณ จะสามารถหักค่าใช้จ่ายส่วนแรกได้เท่ากับ 7,000 บาท คูณอายุงาน (เศษของปีตั้งแต่ 183 วัน คิดเป็น 1 ปี) ส่วนที่สองอีกครึ่งหนึ่งหลังหักส่วนแรกแล้ว แล้วจึงคำนวณภาษีตามอัตราขั้นบันได แต่ไม่ได้รับยกเว้น 150,000 บาทแรก และจะเลือกแยกคำนวณภาษีได้เฉพาะในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินในลักษณะนี้เท่านั้น


กรณีเลิกจ้าง

ไม่ว่าจะรวมคำนวณภาษีตามปกติ หรือแยกคำนวณภาษีในใบแนบ จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับค่าชดเชย เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง 300 วันสุดท้าย และไม่เกิน 300,000 บาท โดยการนับ 300 วันนี้จะนับวันต่อวัน เช่น หากถูกเลิกจ้างในวันที่ 31 ธันวาคม จะนับ 300 วันสุดท้ายย้อนไปถึงวันที่ 7 มีนาคม ส่วนที่ได้รับยกเว้นภาษีจึงเท่ากับเงินเดือนในเดือนมีนาคม คูณด้วย 25/31 บวกกับเงินเดือนเต็มเดือนของเดือนเมษายนถึงธันวาคม แต่ไม่เกิน 300,000 บาท

ตัวอย่างการคำนวณ 300 วันย้อนหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม

ในกรณีที่รวมคำนวณภาษี ให้กรอกจำนวนเงินก่อนหักส่วนที่ได้รับยกเว้น (รวมกับเงินเดือนและเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถ้ามี แล้ว) ในข้อ 1.1 ของแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือข้อ ก.1 ของแบบ ภ.ง.ด. 91 แล้วจึงกรอกส่วนที่ได้รับยกเว้นข้างต้น ในข้อ 1.2 (4) ของแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือข้อ ข.5 ของแบบ ภ.ง.ด. 91 ส่วนกรณีที่แยกคำนวณภาษี ให้กรอกเฉพาะค่าชดเชยหลังหักส่วนที่ได้รับยกเว้นในข้อ ก.3 ของใบแนบ โดยค่าชดเชยนั้นถือเป็นเงินได้ประเภท ค ตามใบแนบ จึงสามารถนำมาเป็นตัวตั้งเพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน เช่นเดียวกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นเงินได้ประเภท ข (หากไม่ได้โอนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF for PVD)

ตำแหน่งสำหรับกรอกเงินได้ (สีเขียว) และค่าชดเชยที่ได้รับยกเว้น (สีแดง) ในแบบ ภ.ง.ด. 90 (ด้านซ้าย) และแบบ ภ.ง.ด. 91 (ด้านขวา)
ตำแหน่งสำหรับกรอกเงินชดเชยหลังหักได้รับยกเว้นในใบแนบ

กรณีเกษียณอายุ

ตรงนี้ขอทำความเข้าใจก่อนครับว่า กฎหมายแรงงานสำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้นแตกต่างจากกฎหมายแรงงานสำหรับภาคเอกชนเล็กน้อย นั่นคือ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างอย่างหนึ่ง นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยเสมือนการเลิกจ้าง ในขณะที่ พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กำหนดให้พนักงานที่เกษียณอายุ ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่จะได้รับเป็นเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานแทน ตามอัตราดังนี้ (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้แล้ว)

  • อายุงานครบ 5 ปี เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน

  • อายุงานครบ 15 ปี เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

  • อายุงานครบ 20 ปี เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน

จะเห็นได้ว่า พนักงานที่จะได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบฯ จะต้องมีอายุงานอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งจากฐานเงินเดือนที่สูงเมื่อเทียบกับตอนเริ่มทำงาน ทุกคนคงจะเลือกแยกคำนวณภาษี และจากเหตุผลดังกล่าว เงินเพื่อตอบแทนความชอบฯ ไม่ถือเป็นค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง จึงถือเป็นเงินได้ประเภท ง ตามใบแนบ เช่นเดียวกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ (กรอกในข้อ ก.5 ของใบแนบ) และเมื่อจะนำไปเป็นตัวตั้งเพื่อคำนวณค่าใช้จ่าย จะต้องเปรียบเทียบกับตัวเลขอีก 2 ค่า คือ (1) เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณอายุงาน กับ (2) เงินเดือนถัวเฉลี่ย 12 เดือนสุดท้าย บวก 10% คูณอายุงาน (กรอกในข้อ ข.1 ของใบแนบ) โดยตัวตั้งเพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายจะต้องเป็นจำนวนที่น้อยที่สุดระหว่าง (1) หรือ (2) หรือจำนวนเงินที่ได้รับจริง (กรอกในข้อ ข.2 ของใบแนบ) ในขณะที่เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับเมื่อเกษียณอายุ จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน หากเกษียณอายุเมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาไม่ต่ำกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน

ตำแหน่งสำหรับกรอกเงินได้อื่นที่ได้รับเมื่อออกจากงาน (สีน้ำเงิน) และเงินเดือนเดือนสุดท้ายสำหรับเปรียบเทียบ (สีส้ม) ในใบแนบ

พนักงานรัฐวิสาหกิจถือว่าเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล เพราะทำให้ประชาชนได้มีสาธารณูปโภคและบริการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต รัฐบาลจึงให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งด้านการคุ้มครองการทำงานและด้านภาษี เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานเพื่อประเทศชาติ ซึ่งพนักงานรัฐวิสาหกิจควรจะต้องทราบถึงสิทธิประโยชน์เหล่านี้ และวางแผนให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองด้วยนะครับ...


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy


อ้างอิง

ประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5)

กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (36) (51)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานฯ

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 223) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ

ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 4)

หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/6717 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2552


8,232 views0 comments

Comments


bottom of page