ทุกขอริยสัจ คือหนึ่งในอริยสัจ 4 ส่วนหนึ่งของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังข้อความจากพระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎกเล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 ที่ว่า “อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา พฺยาธีปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ...” (ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิด ก็เป็นทุกข์ ความแก่ ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ ก็เป็นทุกข์ ความตาย ก็เป็นทุกข์...) สำหรับบรรดาลูกจ้างภาคเอกชน สำนักงานประกันสังคมได้จัดให้มีกองทุนสำหรับดูแลลูกจ้างในยามเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ได้แก่ กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ดังนั้น ในเรื่องนี้ เรามาทำความรู้จักกองทุนทั้งสองกันดีกว่าครับ...
กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ลูกจ้างส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกองทุนประกันสังคมเป็นอย่างดีนะครับ เพราะในแต่ละเดือนจะถูกหักเงินสมทบเข้ากองทุน (5% ของฐานค่าจ้างตั้งแต่ 1,650-15,000 บาท) และรวมกับเงินสมทบจากฝ่ายนายจ้าง (5%) และฝ่ายรัฐบาล (2.75%) โดยให้ความคุ้มครองกรณีชราภาพ ว่างงาน สงเคราะห์บุตร คลอดบุตร ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ซึ่งไม่เนื่องจากการทำงาน ในขณะที่กองทุนเงินทดแทนอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างฝ่ายเดียว ในอัตราที่แตกต่างกันไปตามประเภทกิจการ (ถ้าไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 0.2% ของฐานค่าจ้างซึ่งไม่เกิน 240,000 บาทต่อปี) และอาจเพิ่มหรือลดได้ตามค่าประสบการณ์ โดยให้ความคุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย สูญเสียสมรรถภาพ เสียชีวิต หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงาน
หลังจากทำความรู้จักคู่หูคู่ใจลูกจ้างทั้ง 2 กองทุนกันไปแล้ว มาดูกันว่าแต่ละกองทุนให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างเมื่อประสบความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตาย อย่างไรกันบ้างครับ...
ยามเกิด
เมื่อผู้ประกันตนให้กำเนิดบุตร กองทุนประกันสังคมจะให้ประโยชน์ทดแทนตั้งแต่ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสตั้งครรภ์ โดยจะมีสิทธิได้รับค่าตรวจและรับฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินครรภ์ละ 1,000 บาท[1] และได้รับค่าคลอดบุตรอีกครรภ์ละ 13,000 บาท[2] (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) รวมถึงเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร (เฉพาะผู้ประกันตนหญิง ไม่เกิน 2 ครรภ์) ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน ทั้งนี้ ต้องส่งเงินสมทบอย่างน้อย 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเข้ารับบริการทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ เป็นเงิน 600 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน[3] คราวละไม่เกิน 3 คน โดยต้องส่งเงินสมทบอย่างน้อย 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิ
(อ่านเรื่อง สิทธิประโยชน์จากภาครัฐที่คุณแม่ (มือใหม่) ต้องรู้)
ยามแก่
กองทุนประกันสังคมจะให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงและมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ หากส่งเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับเงินสมทบ 3% ของค่าจ้าง เฉพาะส่วนของผู้ประกันตน (ส่งเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน) หรือเท่ากับเงินสมทบส่วนของผู้ประกันตนและส่วนของนายจ้าง ฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปี (ส่งเงินสมทบ 12-179 เดือน) แต่หากส่งเงินสมทบ 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือน ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และเพิ่มอีก 1.5% ต่อทุก 12 เดือนเต็มที่ส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน ทั้งนี้ ไม่ต่ำกว่า 720 บาท
ยามเจ็บไข้
หากผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยโดยไม่เนื่องจากการทำงาน และได้ส่งเงินสมทบอย่างน้อย 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเข้ารับบริการทางการแพทย์ สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล และ/หรือฟื้นฟูสมรรถภาพ ณ สถานพยาบาลตามสิทธิ และหลังจากหมดสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างหยุดงานเพื่อการรักษาพยาบาลจากนายจ้าง จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากกองทุนประกันสังคมในอัตรา 50% ของค่าจ้าง ไม่เกินครั้งละ 90 วัน และไม่เกินปีละ 180 วัน (หากเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง จะเพิ่มเป็นไม่เกิน 365 วัน) สำหรับกรณีฉุกเฉินและเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลอื่นจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามอัตราที่กำหนด หากถึงขั้นทุพพลภาพ จะมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม รวมถึงเงินทดแทนการขาดรายได้ ถ้าทุพพลภาพไม่รุนแรง จะได้รับในอัตรา 30% ของค่าจ้าง ตลอดเวลาที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ แต่ไม่เกิน 180 เดือน หรือถ้าทุพพลภาพรุนแรง จะได้รับในอัตรา 50% ของค่าจ้างตลอดชีวิต นอกจากนี้อาจได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย จิตใจ และอาชีพเพิ่มอีก
แต่หากลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสม โดยลูกจ้างจะได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น สูงสุด 1,000,000 บาท ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ (หากเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ จะไม่มีเพดานค่ารักษาพยาบาล) และได้รับค่าทดแทนรายเดือนจากกองทุนเงินทดแทนในอัตรา 70% ของค่าจ้าง ตลอดเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้แต่ไม่เกิน 1 ปี และอาจขอรับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานได้เพิ่มอีก หรือหากถึงขั้นสูญเสียสมรรถภาพ จะได้รับค่าทดแทนเป็นเวลา 2-120 เดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของการสูญเสียอวัยวะ และหากถึงขั้นทุพพลภาพ จะได้รับค่าทดแทนตลอดชีวิต
ยามตาย
หากผู้ประกันตนตายจากสภาพลูกจ้าง (ออกจากงาน) โดยได้ขึ้นทะเบียนหางานกับกรมการจัดหางาน และได้ส่งเงินสมทบอย่างน้อย 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน จะได้รับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคม โดยกรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนในอัตรา 50% ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 180 วัน ส่วนกรณีลาออกจากงานจะได้รับเงินทดแทนในอัตรา 30% ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 นับแต่วันว่างงาน (หรือตั้งแต่ขึ้นทะเบียนหางาน หากขึ้นทะเบียนหลัง 30 วันนับแต่วันว่างงาน) (ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการเพิ่มอัตราประโยชน์ทดแทนทั้งกรณีถูกเลิกจ้างและกรณีลาออกจากงาน เป็น 70% ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 200 วัน และ 45% ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 90 วัน ตามลำดับ) และยังได้สิทธิในประโยชน์ทดแทน 4 กรณี (ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต) ต่อไปอีก 6 เดือน
สำหรับกรณีเสียชีวิต หากเป็นการเสียชีวิตโดยไม่เนื่องจากการทำงาน และผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบอย่างน้อย 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนเสียชีวิต ผู้จัดการศพจะได้รับเงินค่าทำศพเป็นเงิน 50,000 บาท และบุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ หรือทายาท (บิดามารดา คู่สมรส บุตร) จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน (ส่งเงินสมทบ 36-119 เดือน) หรือ 6 เดือน (ส่งเงินสมทบ 120 เดือนขึ้นไป) จากกองทุนประกันสังคม แต่หากลูกจ้างเสียชีวิตหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ผู้จัดการศพจะได้รับค่าทำศพเป็นจำนวน 40,000 บาท[4] และทายาทจะได้รับค่าทดแทนในอัตรา 70% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 10 ปี (บุตรให้ได้รับจนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ยกเว้นทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ) จากกองทุนเงินทดแทน
“ตํ โข ปนิทํ ทุกขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยนฺติ” (ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้) ไม่ว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ หรือความตาย เราล้วนต้องทำความเข้าใจสภาพที่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน พร้อมคอยให้ความช่วยเหลือและอยู่เคียงข้างบรรดาลูกจ้างเสมอครับ...
ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy
อ้างอิง
พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 46, 54, 62-71, 73, 74-75, 75 ตรี, 76-77, 77 ทวิ, 78-79
พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 13, 15-16, 18, 20, 45
กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความใน พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533
กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2556[5]
กฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ. 2550
กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2546
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2547[5]
กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563
กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2563[4]
กฎกระทรวงค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2563
กฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2563
กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินค่าทำศพในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน พ.ศ. 2563
ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทน หลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณค่าจ้างรายเดือน
ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ประเภท ขนาดของกิจการ ท้องที่ที่ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบ อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ
ประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดอัตราเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำ
ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร
ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีการฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ
ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ
ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฯ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ทุพพลภาพ
ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฯ เรื่อง กำหนดอัตราและระยะเวลาการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ
รายการ “สถานีประกันสังคม” วันที่ 19 มิถุนายน 2563 สัมภาษณ์คุณกนกนันท์ วิริยานันท์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาระบบการจ่ายประโยชน์ทดแทน สำนักสิทธิประโยชน์ ทาง Facebook “สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน”
#กองทุนประกันสังคม #กองทุนเงินทดแทน #ประกันสังคม #ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร #SiamWealthManagement #VinayaChy
[1] ต่อมาในปี 2564 มีการปรับเพิ่มอัตราค่าตรวจและรับฝากครรภ์เป็นไม่เกินครรภ์ละ 1,500 บาท
[2] ต่อมาในปี 2564 มีการปรับเพิ่มอัตราประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรเป็นครรภ์ละ 15,000 บาท
[3] ต่อมาในปี 2564 มีการปรับเพิ่มอัตราประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรเป็นเดือนละ 800 บาทต่อบุตร 1 คน
[4] ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 มีการประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2564 กำหนดอัตราค่าทำศพเมื่อลูกจ้างเสียชีวิตหรือสูญหายเนื่องจากการทำงานเป็นเงิน 50,000 บาท
[5] ปัจจุบันรวมเป็นกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2565
Komentáře